เอ็ดวิน แคทมูลล์ ผู้ร่วมก่อตั้งพิกซาร์ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือของเขาว่าในช่วงฤดูหนาวปี 1998 เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นที่พิกซาร์ เนื่องจากมีคน พิมพ์คำสั่ง ‘/bin/rm -r -f *’ ลงในไดร์ฟที่ไฟล์หนัง Toy Story 2 ถูกเก็บอยู่ ซึ่งมันเป็นคำสั่งที่ทำหน้าที่ลบทุกอย่างในตำแหน่งที่กำหนดไว้อย่างรวดเร็ว (ไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใครและมีชะตากรรมเป็นยังไงบ้าง)
”หมวกของวูดดี้หายไปเป็นอย่างแรก จากนั้นก็รองเท้า จากนั้นก็หายไปทั้งหมดเลย และแล้วก็ วู๊บ! ถูกลบหายไปทั้งไดร์ฟ” แคทมูลล์กล่าว
รองผู้กำกับฝ่ายเทคนิค ออเรน เจค็อบ หนึ่งในทีมงานที่อยู่ในเหตุการณ์และเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ เขารีบโทรไปหาฝ่ายสนับสนุนเพื่อบอกให้เขาดึงปลั๊กคอมพิวเตอร์เครื่องหลักที่จัดเก็บไฟล์ของหนัง Toy Story 2 ออก แต่คนที่อยู่ปลายสายกลับถามอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าทำไมต้องดึงออก แคทมูลเลยตะโกนเสียงดังว่า “พระเจ้า ได้โปรด ดึงออกให้ไวเลย”
ปลั๊กถูกดึงออกในที่สุด แต่มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะกว่า 90% ของหนังถูกลบหายเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังไม่ถึงขั้นตื่นตระหนกเพราะมีคนยื่นเรื่องขอข้อมูลสำรองจากฝ่ายไอทีมาแทนเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี กลายเป็นว่าในเวลานั้นพิกซาร์ไม่ได้ทดสอบระบบสำรองข้อมูลเป็นประจำเท่าไหร่นัก ผลคือพวกเขาเลยไม่รู้เลยว่ามีข้อผิดพลาดที่ทำให้ข้อมูลของหนังไม่ได้สำรองไว้อย่างที่มันควรจะเป็น และแล้วฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็กลายเป็นจริง
”เรากู้คืนหนังจากการสำรองข้อมูลภายใน 48 ชั่วโมง(หลังมีคำสั่งลบ) ทดสอบความถูกต้องของไฟล์ เรนเดอร์เฟรม และได้ข้อมูลกลับมาโดยไม่มีข้อผิดพลาด เราเรียกพนักงานกลับมาทำงานกันใหม่และใช้เวลากันอีกหลายวันเพื่อให้งานกลับสู่สภาพปกติ ก่อนที่จะพบว่าข้อมูลที่กู้คืนมาได้ทั้งหมดนั้นมีความเสียหายและไม่สมบูรณ์”
ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงถูกส่งกลับบ้านและมีการเรียกประชุมผู้บริหารและหัวหน้าแผนกต่างๆ ของพิกซาร์เพื่อประเมินสถานการณ์และตัดสินว่าจะเอายังไงกันต่อ ซึ่งมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ เลื่อนแผนการทำงานออกไป เริ่มต้นทำหนังกันใหม่ตั้งแต่ต้น หรือทิ้งหนังทั้งเรื่องไปเลย
”ในการประกอบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปีต่อทีมงาน 30 คน” แคทมูลล์กล่าว
ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึม จู่ๆ หัวหน้าทีมงานฝ่ายแสง กาลิน ซัสแมน ก็นึกขึ้นได้ว่าเธอมีไฟล์หนัง Toy Story 2 ฉบับสำรองเก็บไว้อยู่ที่บ้าน เนื่องจากเธอเคยทำงานอยู่ที่บ้านหลังต้องคลอดลูกชาย เจค็อบและซัสแมนเลยบึ่งรถกลับไปที่บ้านของซัสแมนเพื่อนำคอมพิวเตอร์กลับมาที่สตูดิโอ “อย่างระมัดระวังที่สุด” ด้วยการห่อคอมพิวเตอร์ด้วยผ้าห่มหลายผืนและวางไว้ที่เบาะหลังของรถ ก่อนที่จะถูก “นำเข้าไปในพิกซาร์ราวกับเป็นฟาโรห์ของอียิปต์” เจค็อบกล่าว
เมื่อคอมพิวเตอร์มาถึง พวกเขาก็จัดการทำสำเนาไฟล์ทั้งหมด แล้วค่อยทำการตรวจสอบความถูกต้องและตรวจดูเนื้อหาว่าควรจะกู้อะไรออกมา พวกเขาพบว่ากว่า 70% ของโครงการสามารถกู้คืนได้แบบไม่เสียแรง แต่ยังมีเนื้อหาอีก 30,000 ไฟล์ที่เหลือที่จำเป็นต้องใช้ทีมงานมานั่งเช็คกันเองทีละไฟล์ เป็นผลให้ทีมงานทุกคนพกถุงนอนมาที่ทำงานและทำงานเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมง เพื่อกู้คืนข้อมูลที่เหลือของหนังในช่วงสุดสัปดาห์
“สุดท้าย ดวงตาของมนุษย์ก็ทำการสแกน อ่าน ทำความเข้าใจ มองหาความผิดพลาด และตัดสินใจอะไรบางอย่างกับไฟล์ 30,000 ไฟล์ได้ทั้งหมดในสุดสัปดาห์นั้น”
ผลจากความพยายาม Toy Story 2 ก็ถูกกู้ชีพขึ้นมาได้สำเร็จและเสร็จทันตามกำหนด เรียกได้ว่าหากตอนนั้นไม่มีทีมงานคนไหนลาคลอดไปทำงานที่บ้าน เราก็คงไม่ได้ดูหนังและมีภาคต่ออีก 2 ภาคตามมาอย่างที่เราได้ชมกันไปเป็นแน่