หน้าแรก Article เข้าใจการให้คะแนน Rotten Tomatoes เว็บไซต์รวมคำวิจารณ์หนังที่มีทั้งคนรักและคนชัง

เข้าใจการให้คะแนน Rotten Tomatoes เว็บไซต์รวมคำวิจารณ์หนังที่มีทั้งคนรักและคนชัง

Rotten Tomatoes เป็นเว็บไซต์รวมคำวิจารณ์หนัง หนังทีวี และซีรีส์ ที่เชื่อได้ว่าคอหนังส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะหากจะมีหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนเข้าฉาย มักมีชื่อของเว็บไซต์ Rotten Tomatoes (ซึ่งในที่นี่เราขอเรียกง่ายๆ ว่า “เว็บมะเขือเน่า”) ออกมาปล่อยคะแนนคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์เป็นอันดับแรกๆ และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ด้วยความที่เว็บใช้สัญลักษณ์ลูกมะเขือเทศ “สด” และ “เน่า” บ่งบอกว่าหนังแต่ละเรื่องเป็นยังไง นั่นทำให้ดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ชมทั่วไปที่จะบอกว่า “เรื่องนี้สด ต้องเข้าไปดูให้ได้” หรือ “เรื่องนี้เน่า ไว้ก่อนก็แล้วกัน”

ทว่าการวัดคะแนนของเว็บมะเขือเน่ากลับสร้างปัญหาต่อผู้ชมที่ไม่เข้าใจกลไกคะแนน ซึ่งอาจเกิดปัญหาด้านการตีความคุณภาพหนังผิดไป หรืออย่างเลวร้ายที่สุด มันอาจทำให้คุณพลาดหนังที่คุณอาจจะชอบก็ได้

แล้วอะไรที่เป็นกลไกเบื้องหลังของคะแนนมะเขือเน่า เราจะอธิบายคร่าวๆ ให้เข้าใจกันครับ

คะแนนมะเขือเน่า ไม่ได้มาจากทีมงานของเว็บไซต์ หากแต่ถูกรวบรวมจากนักวิจารณ์หนังกว่า 4,400 คนทั่วโลกที่ถูกคัดเลือกมา ซึ่งมีนักเขียนบล็อกเกอร์ผู้ที่ได้รับการยอมรับรวมอยู่ในนั้นด้วย นักวิจารณ์จะสามารถเลือกข้อความสั้นๆ จากบทวิจารณ์ลงในเว็บไซต์ได้ (หรือทีมงานอาจคัดลอกลงเว็บไซต์เอง) และสามารถระบุคะแนนที่เป็นตัวเลข เกรด หรือดาวได้ รวมทั้งต้องกำหนดว่าบทวิจารณ์นี้ให้มะเขือ “สด” หรือ “เน่า” หากไม่มีการระบุ ทีมงานจะพิจารณาด้วยตัวเอง หรือติดต่อกลับไปยังนักวิจารณ์หากทีมงานไม่แน่ใจ แต่ถ้านักวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการตีความของทีมงาน ก็สามารถขอให้เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

โดยคะแนนมะเขือทั้งหมดจากนักวิจารณ์จะถูกนำไปเฉลี่ยเป็นตัวเลขร้อยละ หากหนังเรื่องไหนได้มะเขือสดมากกว่า 60% จะถือว่าได้มะเขือสด น้อยกว่านั้นก็ถือว่าได้มะเขือเน่า

นอกจากนี้ทางเว็บไซต์ยังมีการให้ตรารับรองมะเขือสดที่เรียกว่า Certified Fresh ซึ่งให้แก่หนังที่ได้มะเขือสดมากกว่า 75% ขึ้นไป และต้องมีคนวิจารณ์อย่างน้อย 80 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าหนังมีการรับรองมะเขือสดแล้ว แต่คะแนนมะเขือเน่ากลับลดลงต่ำกว่า 70% หนังจะถูกถอดการรับรองมะเขือสด แต่ในบางกรณีอาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทีมบรรณาธิการของเว็บไซต์

ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ที่เห็นบนเว็บไซต์จึงหมายถึงตัวเลขที่ถูกกำหนดจากกฏของเว็บไซต์เอง เช่นหนังที่ได้คะแนนมะเขือเน่า 30% จากนักวิจารณ์ทั้งหมด 10 คน ไม่ได้หมายความว่าหนังได้คะแนน 30/100 แต่หมายถึงมีนักวิจารณ์ที่ให้คำวิจารณ์แง่บวก 3 คนจากทั้งหมด 10 คน ด้วยเหตุนี้ ระบบคะแนนดังกล่าวจึงเป็นปัญหาต่อหนังบางเรื่อง เพราะเว็บไซต์ไม่อนุญาตให้มอบคะแนน “กลางๆ” มีเพียงแต่การตีความว่าหนังเรื่องนั้นดีหรือแย่เท่านั้น 

คะแนนมะเขือเน่าไม่เพียงแต่สร้างความเข้าใจผิดๆ แก่ผู้ชม แต่มันยังสร้างปัญหาแก่นักทำหนังด้วย อย่างผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่ให้ความเห็นว่ามะเขือเน่าเป็นเหมือนการดูถูก และคิดว่ามีคนบางกลุ่มชอบที่ได้เห็นคนทำหนังเสียหน้าและถูกขยี้เป็นชิ้นๆ หรืออย่างผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง เบรตต์ แรตเนอร์ ที่บอกว่าเว็บมะเขือเน่ากำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนังของคนทั่วไปและทำลายอุตสาหกรรมภาพยนต์ในปัจจุบัน

แม้ฝั่งนักสร้างหนังจะดุเดือดเลือดพล่าน ทางด้านเว็บมะเขือเน่ากลับตอบรับด้วยท่าทางอ่อนหวาน ด้วยการบอกว่าเป้าหมายของเว็บไซต์คือต้องการสร้างสังคมการพูดคุยและถกเถียงต่อหนังแต่ละเรื่องเท่านั้น และในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าเว็บไซต์มะเขือเน่าไม่ได้มีผลต่อการทำเงินบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสแต่อย่างใด อีกทั้งยังช่วยให้หนังอินดี้เล็กๆ ได้เชิดหน้าชูตาได้อีกด้วย หากตัวหนังมีคุณภาพมากพอ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตัดสินหนังแบบผิดๆ จากการดูคะแนนมะเขือเน่าจะไม่เกิดขึ้น หากผู้ชมเข้าใจวิธีการได้มาซึ่งคะแนน และเข้าใจว่าคะแนนมะเขือเน่าเป็นเพียงฉันทามติ ไม่ใช่การเปรียบเชิงคุณภาพ นอกจากนั้น ในเว็บไซต์ยังมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจเช่นคะแนนเฉลี่ย คะแนนจากผู้ชม และคำวิจารณ์เต็มจากนักวิจารณ์ หรือพิจารณาจากช่องทางอื่นอย่างเว็บไซต์ Metacritic ที่แสดงค่าเฉลี่ยจากนักวิจารณ์ทั่วโลก, เว็บไซต์ IMDB ที่เป็นผลโหวตจากผู้ชมทั่วไป หรือแฟนเพจรีวิวหนังในบ้านเราที่คุณชื่นชอบและถูกจริตก็ได้เช่นกัน

อ้างอิง  Digitalspy, Variety, Vox, Business Insider