แม้ว่า The Amazing Spider-Man 2 จะมีผลตอบรับจากผู้ชมและรายได้ไม่ค่อยดี แต่มันก็ยังไม่ได้ส่งผลต่อความพยายามที่จะสร้างหนังภาคที่สาม ทว่าก่อนจะเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้น ในปี 2014 เควิน ไฟกี กลับได้เริ่มดำเนินการประชุมลับเพื่อหยุดยั้งการสร้างหนัง The Amazing Spider-Man 3 และผลักดันการนำไอ้แมงมุมเข้าสู่ MCU ตามข้อมูลล่าสุดที่ปรากฏในหนังสือ The Story of Marvel Studios: The Making of the Marvel Cinematic Universe
“เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไฟกีเลยเริ่มประกาศสถานการณ์ “เรียกทุกคนที่เกี่ยวข้อง” ผู้บริหารทุกคนในมาร์เวลสตูดิโอต้องเป็นส่วนหนึ่งของทริปพักผ่อนนอกสถานที่เป็นเวลาสองวัน ซึ่งจัดขึ้นในโรงแรมในซานตาโมนิตาอย่างลับๆ”
“คนในมาร์เวลสตูดิโอไม่รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร รู้แค่ว่าเป็นการ “พบปะ” ในห้องปิดล็อก พร้อมกับคำถามสองข้อ หากมีโอกาสที่จะเป็นนายหน้าดีลกับโซนี มันจะเป็นยังไง? หากพวกเขายกผลประโยชน์บางอย่างขึ้นมาเช่นดีลหนังห้าเรื่อง อะไรคือเรื่องที่พวกเขาต้องการเล่า?”
การนำไปนำเสนอต่อประธานโซนี เอมี ปาสคาล กลับทุลักทุเลกว่าที่คิด เนื่องจากปาสคาลมีไอเดียของ The Amazing Spider-Man 3 อยู่ก่อนแล้ว เธอชอบทิศทางที่หนังกำลังจะไป และยังต้องการให้ เควิน ไฟกี อ่านบทและขอคำปรึกษาเช่นที่เคยทำมาตลอดในหนังสองภาคก่อนหน้า แต่ไฟกีกลับบอกว่า “เอมี บอกตามตรงนะ มันไม่เวิร์คหรอก”
“วิธีเดียวที่ผมรู้ว่าจะทำอะไรต่อมิอะไรคือการลงมือทำเองทั้งหมด แล้วทำไมไม่ให้เราทำล่ะ?” ไฟกียื่นข้อเสนอ “อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องของสองค่าย อย่าคิดว่ามันเป็นการคืนสิทธิ์ให้ค่ายอื่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ เงินไม่ได้เปลี่ยนมือ แค่ให้เราสร้างมัน เหมือนที่ดีซีจ้างคริสโตเฟอร์ โนแลน ผมไม่ได้จะบอกว่าเราคือโนแลนนะ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเรามีบริษัทโปรดัคชั่นที่ดีพอตัว คุณแค่ใช้บริษัทของเราสร้างหนังขึ้นมา”
คำพูดทั้งหมดนี้ทำให้ปาสคาลผงะ ขุ่นเคือง จนเริ่มร้องไห้ ถึงขั้นโยนแซนวิชใส่เขาและไล่ออกจากออฟฟิศ แต่เธอก็ยอมรับว่าหนัง Spider-Man ห้าเรื่องที่ผ่านมาคือความพยายามที่จะหาหนทางใหม่ๆ ในการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นความพยายามที่หนักหน่วงตลอดมา “เราไม่ได้สดใหม่อีกต่อไปแล้ว” ปาสคาลยอมรับ
แต่แนวคิดการร่วมมือกันของสองค่ายก็ยังไม่หลุดออกจากหัวเธอ ก่อนที่มันจะสุกงอม และในที่สุดเธอก็ยอมรับข้อเสนอของไฟกีเนื่องจากไอเดียที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ของเขา
“ไอเดียที่ว่าจะให้ปีเตอร์ต่อสู้กับโลกที่ทุกคนมีทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่เขาไม่มีอะไรเลย เป็นวิธีการใหม่ในการเล่าเรื่องเรื่องนี้ ฉันเลยคิดว่า ‘ให้ตายเถอะ หมอนี่โคตรเก่งเลย”
อีกหนึ่งสิ่งที่โซนีเห็นด้วยกับมาร์เวลคือการที่ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ยังคงอยู่ในรั้วโรงเรียนเพื่อเผชิญปัญหาของวัยรุ่น และการเติบใหญ่ของการเป็นฮีโร่ในหนังภาคถัดๆ มา
“สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นด้วยอย่างรวดเร็วคือพวกเขาไม่ต้องการให้ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ออกจากไฮสคูล ไอเดียที่ว่าปีเตอร์ต้องเจอประสบการณ์ในโรงเรียน เช่นทริปโรงเรียน การบ้าน และงานคืนสู่เหย้า เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และสำหรับมาร์เวลสตูดิโอ มันแตกต่างออกไป มันเป็นสนามเด็กเล่นของไอเดียและการเล่าเรื่อง เพราะหากมีดีลหนังหลายภาค พวกเขาชอบไอเดียที่จะได้สำรวจความเจ็บปวดของไอ้แมงมุมที่เพิ่มมากขึ้น กับเรื่องราวที่เชื่อมโยงถึงกัน”
นั่นนำไปสู่การปรากฏตัวใน MCU ครั้งแรกของไอ้แมงมุมในหนัง Captain America: Civil War ยาวนานจนมาถึงหนังเดี่ยวภาคที่สามอย่าง Spider-Man: No Way Home หนังที่เปรียบเสมือนภาคจบและตัวชี้ทางว่าฮีโร่โหนใยคนนี้จะไปสู่เส้นทางไหนต่อไปในอนาคต