ในซีรีส์ The Book of Boba Fett ถือเป็นซีรีส์อีกเรื่องที่มีการนำ ลุค สกายวอล์คเกอร์ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่แตกต่างจากครั้งก่อนในซีรีส์ The Mandalorian เพราะครั้งนี้เป็นการใช้ Deepfake ทับหน้านักแสดงแทน แทนที่จะใช้เทคนิคลดอายุที่ฮอลลีวูดมักใช้เป็นประจำ และที่สำคัญเจ้าของบทอย่าง มาร์ค แฮมิลล์ ไม่ได้กลับมาพากย์เสียงแม้แต่บรรทัดเดียว หากแต่จะเป็นการที่ทีมงานใช้ปัญญาประดิษฐ์พากย์เสียงให้
แมทธิว วูด ผู้ตัดต่อเสียงกล่าวว่าพวกเขาใช้โปรแกรมที่ชื่อ Respeecher ในการสังเคราะห์เสียงของแฮมิลล์ขึ้นมาทั้งหมด จากการวมรวมเสียงของเขาในยุค 80 เช่นภาพยนตร์ ออดิโอบุ๊ค หรือรายการวิทยุ
“มันเป็นโครงข่ายประสาทเทียมที่คุณต้องป้อนข้อมูลเข้าไปเพื่อให้มันเรียนรู้ ผมเลยต้องเติมวัตถุดิบเนื้อหาของมาร์คในยุคนั้นลงไป เรามีพวกเสียงห้องอัดจากหนังต้นฉบับ ออดิโอบุ๊ค ของเขาจากยุคนั้น และพวกรายการวิทยุสตาร์วอร์สในสมัยก่อน ผมต้องคลีนเสียงบันทึกพวกนั้น แล้วป้อนข้อมูลลงระบบ จากนั้นพวกมันก็จะเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้”
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แทนที่ดิสนีย์จะจ้างให้แฮมิลล์กลับมาบันทึกเสียง ปรับแต่งนิดหน่อยเพื่อให้เสียงของเขายังหนุ่มแน่น แต่พวกเขากลับได้สร้างเสียงสนทนาในรูปแบบดิจิตัลที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ฉะนั้นในซีรีส์ The Book of Boba Fett คงเป็นการที่ดิสนีย์ถือโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเต็มรูปแบบ และบางทีพวกเขาอาจจะเปลี่ยนให้เสียงดิจิตอลเหล่านี้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในอนาคต แทนที่จะให้นักแสดงเสียเวลาเดินทางมาทำงานพากย์แค่ไม่กี่ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของเทคโนโลยีนี้คือความเป็นธรรมชาติและอารมณ์ของเสียง เช่น ประโยคคำถาม หรือน้ำเสียงตื่นเต้น ซึ่งแน่นอนว่าเทียบไม่ได้เลยกับเสียงคนจริงๆ โดยเฉพาะการที่คนดูมีรู้สึกว่ามัน “เหมือนจนน่ากลัว” ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับการสังเคราะห์ใบหน้าหรือเสียงด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ครับ