Kim Ji-young, Born 1982 หรือ “คิมจียอง เกิดปี 82” โดยนักเขียน โชนัมจู กลายเป็นหนังสือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ใจความสำคัญที่ทำให้หนังสือกลายเป็นกระแสมากขนาดนี้เป็นเพราะการพูดถึงปัญหาที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึง และไม่มีผู้หญิงคนไหนกล้าเอ่ยถึง การมีอยู่ของหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการตีแผ่ปัญหาและพูดแทนความในใจของผู้หญิงเกาหลีไปโดยปริยาย
เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของ คิมจียอง ผู้หญิงธรรมดาวัย 30 ปีที่ประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศตลอดชีวิตของเธอเอง เมื่อวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงมีหน้าที่ต้องทำงานบ้าน แต่งงานสืบทอดทายาท และลูกที่ออกมาต้องเป็น “ผู้ชาย” หนังสือถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนิยายเฟมินิสท์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเกาหลี
ล่าสุดเมื่อหนังสือถูกดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์ ความร้อนแรงของกระแสแบ่งขั้วชายหญิงก็ระอุขึ้นอย่างที่หลายคนคาดไว้ หนังฉายภาพความเหลี่ยมล้ำและการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ถึงขั้นมีคู่รักต้องเลิกรากันหลังจากเข้าไปชมหนังเรื่องนี้ โดยหนังได้รับคะแนนเฉลี่ยจากผู้ชมเพศหญิง 9.8 คะแนน ในขณะที่ผู้ชมเพศชายเพียง 2.8 คะแนนเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้นิยายกลายเป็นกระแสขึ้นมาได้คือคดีฆาตกรรมหญิงสาวใกล้สถานีรถไฟใต้ดินย่านกังนัม ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากหนังสือวางจำหน่ายในปี 2016 คดีนี้ถูกพูดถึงอย่างมากเนื่องจากเป็นมีประเด็นทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อคดีถึงศาล ผู้ลงมือฆาตกรรมเอ่ยในศาลว่าเขาถูกหญิงสาวเมินหลายครั้งหลายครา จนเขาไม่สามารถทนต่อไม่ได้และลงมือก่ออาชญากรรมในที่สุด
เชื่อได้ว่าหนังสือยังกลายเป็นหนึ่งในตัวจุดกระแสต่อต้านการคุกคามทางเพศ #MeToo ในเกาหลีใต้ปี 2018 ด้วย
“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องของผู้หญิงแสนพิเศษหรือผู้หญิงแสนอนาถาคนใดคนหนึ่ง แต่มันเล่าเรื่องของผู้หญิงทุกคน” อีนายอง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยามหาวิทยาลัยจุงอังกล่าว ซึ่งหนังสือสะท้อนประเด็นนี้ผ่านชื่อตัวละคร คิมจียอง ชื่อที่พบมากที่สุดในผู้หญิงยุค 80 หรือหมายความได้ว่าผู้หญิงเกาหลีทุกคนล้วนเป็น คิมจียอง ได้ด้วยกันทั้งนั้น
“มันเล่าถึงวงจรชีวิตของคิมจียอง เรื่อยมาจนถึงการกีดกัน แบ่งแยก ความรุนแรง และความเจ็บปวด” เธอเสริม
ศาสตราจารย์อียังบอกด้วยว่าขบวนการเรียกร้องสิทธิศตรีในเกาหลีใต้หลังจากคดีฆาตรกรรมในกังนัมก็นำโดย “ผู้หญิงธรรมดา”
“พวกเขาไม่ใช่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี แต่เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาที่เห็นอกเห็นใจเหยื่อ ทีแรกพวกเขาอาลัยเธอ จากนั้นพวกเขาก็เข้าใจเธอ จนคิดได้ว่าพวกเขาก็ตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกัน พวกเขาตระหนักถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างแหล่งความกลัวของพวกเขาและการเลือกปฏิบัติที่พวกเขาเคยเผชิญ จนพวกเขาต้องประกาศว่าจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยกับเรื่องพวกนี้”
สถิติพบว่าผู้หญิงเกาหลีใต้ได้รับเงินเดือนเพียง 63% ของเงินเดือนที่ผู้ชายได้รับ ซึ่งเป็นตัวเลขช่องว่างที่สูดสุดในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเดียวกัน นักเศษฐศาสตร์บอกว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงในนิยายด้วยในตอนที่ คิมจียอง ไปเป็นพนักงานบริษัทที่มักมีการเลือกปฏิบัติทางเพศ
หนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งผลต่อคนมีชื่อเสียงในกาเหลีใต้ ซึ่งพวกเขาไม่ยอมนิ่งเฉยและกล้าที่จะลุกขึ้นพูดสิ่งที่อยู่ในใจ
ไอรีน สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป Red Velvet เอ่ยในงานพบปะแฟนๆ ของเธอว่าเธออ่านหนังสือเล่มนี้ หลังจากนั้นช่องทางโซเชียลมีเดียของเธอถูกถล่มโจมตีจากแฟนคลับชาย พวกเขาประกาศถอนตัวจากการเป็นแฟนคลับ ถึงขั้นฉีกและเผารูปของเธอทิ้ง
ชเวซูยอง สมาชิกวง Girl’s Generation เคยพูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่าก่อนหน้านี้เธอไม่ได้คิดอะไรจริงจังเลย กระทั่งหนังสือเล่มนี้ทำให้เธอรู้ตัวว่า “ฉันโดนปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง และฉันไม่เคยรู้ตัว”
หนึ่งในการต่อต้านจากแฟนๆ ที่รุนแรนที่สุดก็คงหนีไปไม่พ้นนักแสดงนำของฉบับภาพยนตร์ จองยูมิ และ กงยู พวกเขารู้ดีกว่าจะโดนกระแสแง่ลบจากแฟนๆ บางส่วน แต่พวกเขาก็ไม่ลังเลใจที่จะรับเล่น
“ผมรับข้อเสนอด้วยความที่ผมไม่คิดอะไรมาก” กงยูเล่า “หลังจากอ่านบทเสร็จ ผมคิดถึงครอบครัวมากๆ ไม่บ่อยนักที่ผมจะร้องไห้ตอนอ่านบท แต่ผมร้องไห้ให้กับเรื่องนี้ ผมนึกถึงครอบครัวของผม ผมเลยโทรไปหาแม่ ผมโทรหาเธอเพราะอยากขอบคุณเธอ ผมขอบคุณที่ทำให้ผมเกิดมา ผมคิดว่าเธอดูจะงงๆ นิดหน่อย แต่เธอดูเหมือนจะมีความสุขนะเพราะเธอหัวเราะ”
เขากล่าวเสริม “ไม่มีเหตุผลที่ผมจะต้องลังเล ผมคิดว่ามันเป็นหนังที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวรุ่นผม คนรุ่นผม และคนรุ่นต่อไปที่จะได้ชม”
ถึงแม้ว่าจองยูมิจะไม่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นแม่คน และเคยมองข้ามปัญหาของผู้หญิง แต่เธอรับเล่นเรื่องนี้เพราะอยากเข้าใจความรู้สึกของคนที่กำลังเผชิญกับความไม่เท่าเทียม
“ที่ฉันรู้คือนิยายเล่มนี้เป็นประเด็นร้อน ฉันรู้เรื่องราวเป็นครั้งแรกตอนอ่านบท ฉันตัดสินใจที่จะรับบทนี้หลังจากประชุมกับผู้กำกับ มันเกิดปัญหามากมายตามมา แต่ฉันคิดว่างานของเราคือการสร้างเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าและแสดงให้ผู้คนเห็น”
หลังจากข่าวบอกว่าเธอจะเข้ามารับบทนำในหนัง ชาวเน็ตจำนวนมากแสดงความคิดเห็นแง่ลบต่อเธอ รวมไปถึงให้คะแนนหนัง 0 คะแนนก่อนที่หนังจะฉายด้วยซ้ำ “ฉันไม่ได้รู้สึกกดดันค่ะ ฉันคิดถึงการมีส่วนร่วมสร้างเรื่องราวที่ฉันเลือกและเปลี่ยนแปลงมันไปสู่ผลงานที่ยอดเยี่ยม และแบ่งปันมัน” เธอยืนยัน
“คิมจียอง เกิดปี 82” มีกำหนดฉายในไทย 30 ธันวาคมนี้