หากให้พูดถึงยักษ์ใหญ่ของวงการหนังแอนิเมชั่นในปัจจุบัน ก็คงหนีไปไม่พ้น Pixar สตูดิโอที่สร้างสรรค์งานแอนิเมชั่นโดยเฉพาะ ซึ่งเคยมีผลงานประสบความสำเร็จมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Toy Story, The Incredibles, Finding Nemo และอื่นๆ อีกมากมาย เอาเข้าจริงๆ แล้วหากลองไล่ชื่อหนังดูจะพบว่าไม่มีเรื่องไหนให้ความรู้สึกว่าห่วยเลยสักนิด
อะไรที่ทำให้ผลงานของพิกซาร์ถึงออกมาน่าประทับใจเช่นนี้ เอ็ด แค็ตมูล อดีตประธานพิกซาร์พบว่ากระบวนการหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงการใดโครงการหนึ่งก็คือ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านความตรงไปตรงมา เขาย้ำชัดว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพราะสภาพแวดล้อมแบบตรงไปตรงมาจะทำให้ผู้กำกับและทีมงานจะได้รับข้อเสนอแนะโดยตรงและสร้างสรรค์ โดยการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเขาเรียกมันว่า เบรนทรัสต์ (Braintrust)
เบรนทรัสต์ คือกลุ่มระดับหัวกะทิที่รวมตัวกันเป็นระยะๆ เพื่อทบทวนความคืบหน้าของหนังที่พิกซาร์กำลังพัฒนาอยู่ ทั้งในแง่ของเนื้อเรื่อง ตัวละคร และการออกแบบ ซึ่งงานหลักของกลุ่มเบรนทรัสต์คือการผลักดันความยอดเยี่ยม และถอนรากถอนโคนความธรรมดาทิ้งไป ผ่านมุมมองที่ว่าเริ่มแรกหนังทุกเรื่องของพวกเขามักจะห่วยเป็นปกติอยู่แล้ว
“ในช่วงเริ่มต้น หนังทุกเรื่องของเราห่วย หนังของพิกซาร์ในช่วงแรกไม่ใช่หนังที่ดี และงานของเราคือการทำให้พวกมัน… ผมขอใช้คำว่า จากห่วยเป็นไม่ห่วย” แคทมูลกล่าว
น่าแปลกใจใช่ไหมที่ผลงานของพิกซาร์ไม่ได้เกิดจากไอเดียที่ยอดเยี่ยมเป็นทุนเดิม เพราะกลับกลายเป็นว่าเบรนทรัสต์กลายเป็นสิ่งที่ขัดเกลาหนังแต่ละเรื่องออกมาอย่างที่มันควรจะเป็น อย่างที่บอกไว้ข้างต้นเบรนทรัสต์ประกอบไปด้วยกลุ่มคนเก่งที่มีความกระตือรือร้น ที่สำคัญคือพวกเขาอยู่บนพื้นฐานของความตรงไปตรงมา มุ่งเน้นไปกับการแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าโดยปราศจากวาระซ่อนเร้น เช่นทำให้เจ้านายพอใจหรือเพียงเพราะอยากได้เครดิต
ส่วนที่ยากของช่วงต้นของการประชุมเบรนทรัสต์ก็คือธรรมชาติของมนุษย์ เป็นปกติทีทุกคนมักระวังคำพูดของตัวเอง การไม่มั่นใจหรือกลัวพูดอะไรโง่ๆ ออกมา เราจะบอกผู้กำกับได้ไหมว่าไม่ชอบดีไซน์ตัวละคร ไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเงื่อนไขทางสังคมที่ทุกคนต่างกลัวการพูดความจริงกับคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า ทำให้ข้อเสนอแนะเหล่านั้นปราศจากความคิดแง่ลบและความตรงไปตรงมา
หากถามว่าเบรนทรัสต์ต่างจากขั้นตอนการรับข้อเสนอแนะปกติอย่างไร มีสองปัจจัยหลักที่ทำให้สองอย่างนี้ต่างกัน อย่างแรกคือเบรนทรัสต์มาจากคนที่มีความเข้าใจลึกซึ้งและผ่านขั้นตอนเหล่านั้นมาด้วยตนเอง ซึ่งในแง่ของพิกซาร์คือการทำหนัง และอีกข้อที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มเบรนทรัสต์ไม่มีอำนาจจ้ำจี้จำไชให้ผู้กำกับทำทุกอย่างที่พวกเขาบอก ขึ้นอยู่กับตัวผู้กำกับเองว่าจะจัดการกับข้อเสนอแนะที่ได้รับมาอย่างไรหลังจบการประชุม
ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพการกลุ่มเบรนทรัสต์ทำงานกันอย่างไร เช้าวันหนึ่งของการรวมตัวของกลุ่มและนั่งชมหนังที่กำลังพัฒนาอยู่ ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างได้ข้อสรุปว่า “เราได้หนังองค์แรกแล้ว แต่เรารู้ว่าองค์สองยังใช้ไม่ได้” จากนั้นแต่ละคนก็จะเสนอสิ่งที่พวกเขาชอบและไม่ชอบ แสดงสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจำเป็นต้องปรับปรุง
อย่างตอนที่เกิดขึ้นกับหนัง Inside Out ตอนนั้น แอนดรูว์ สแตนตัน มือเขียนบทของพิกซาร์ย้ำว่า “ผมว่าคุณต้องใช้เวลาตั้งกฏให้โลกที่คุณจินตนาการขึ้นมานะ” หนังของพิกซาร์มักมีกฏเป็นของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งผู้ชมต้องยอมรับ เข้าใจ และสนุกไปกับมันได้ด้วย เช่นมนุษย์ไม่มีทางได้ยินเสียงจากของเล่นใน Toy Story, หนูใน Ratatouille จะเดินสี่ขาปกติ ยกเว้นตัวเอกเรมี่ ที่เดินสองขาตัวตรงเหมือนมนุษย์ นั่นจึงเป็นที่มาของกฏความทรงจำ มันถูกออกแบบให้เป็นลูกแก้วที่ไหลผ่านรางคดเคี้ยวอย่างที่เห็นกันในหนัง
บางครั้งเบรนทรัสต์ก็รู้ว่ามีบางอย่างผิดพลาดแต่ระบุอาการผิดไป กรณีนี้เกิดขึ้นกับหนัง The Incredibles ของผู้กำกับ แบรด เบิร์ด หลายคนในห้องต่างเห็นว่ามีความผิดปกติในการสนทนาระหว่างคู่ฮีโร่สามีภรรยา ท้ายที่สุดแล้วเบิร์ดยืนกรานที่จะไม่เปลี่ยนบทพูดแต่เปลี่ยนแปลงอากัปกิริยาของตัวละครแทน ซึ่งได้ผลออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการประชุมเบรนทรัสต์ก็คือผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องพร้อมรับฟังความจริงเสมอ ข้อเสนอแนะจะได้ผลก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเปิดใจและพร้อมที่จะทิ้งสิ่งที่ใช้ไม่ได้ออกไป มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะรู้สึกถูกคุกคามและไม่พอใจ
ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของการประชุมคือการรับมุมมองที่แตกต่างจากคนหลายคน ซึ่งในสภาพแวดล้อมนั้นคุณมักเปรียบตัวเองกับคนอื่นและพยายามต่อต้านไอเดียที่ไม่ได้มาจากหัวตัวเอง เบรนทรัสต์ไม่ได้เป็นการถกเถียงเพื่อหาผู้ชนะหรือผู้แพ้ เบรนทรัสต์คือการทำให้คนอื่นมีส่วนร่วมบางอย่างที่จะช่วยขยายมุมมองออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น และเป้าหมายของทุกคนคือการสร้างหนังที่ดีขึ้น
“ถ้ามีความจริงอยู่ในโถงทางเดินมากกว่าในห้องประชุม แสดงว่าคุณมีปัญหาแล้ว”
– เอ็ด แคทมูล
อ้างอิง Medium, Prototypr, Fastcompany, หนังสือ Creativity, Inc.