หน้าแรก News ฮอกวอตส์ในชีวิตจริง มหาวิทยาลัยในอินเดียเปิดสอนวิชากฎหมายจากโลกของนิยาย แฮร์รี พอตเตอร์

ฮอกวอตส์ในชีวิตจริง มหาวิทยาลัยในอินเดียเปิดสอนวิชากฎหมายจากโลกของนิยาย แฮร์รี พอตเตอร์

จะเป็นยังไงเมื่อกฎหมายโลกเวทมนต์ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกนำมาใช้สอนในโลกแห่งความเป็นจริง?

มหาวิทยาลัยนิติศาสตร์แห่งชาติกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ได้เปิดสอนวิชากฎหมายที่ใช้ชื่อวิชาว่า “จุดเชื่อมระว่างวรรณคดีแฟนตาซีกับกฎหมาย: มุ่งเน้นพิเศษบนจักรวาลพอตเตอร์ของโรว์ลิง” ซึ่งเป็นการหยิบนิยายชื่อดัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในส่วนของกฏหมายมาประกอบการสอน ควบคู่ไปกับการเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกพ่อมดแม่มดกับโลกแห่งความเป็นจริง

หัวข้อที่ถูกกล่าวถึงในวิชามีดังนี้

  • ขนบธรรมเนียมและประเพณี ตลอดจนเสรีภาพและหลักนิติธรรมในสังคมเวทมนต์และระบบราชการในกระทรงเวทมนต์
  • คำสาปโทษผิดสถานเดียว, ศาลสูงวิเซ็นกามอต, ซีเรียส แบล็ค ผู้บริสุทธิ และ ทอม ริดเดิ้ล ผู้ต้องโทษประหาร
  • ค่านิยมทางสังคม, สิทธิทางสังคมและชนชั้นในอินเดียกับการเป็นทาสของเอลฟ์ประจำบ้าน, กลุ่มคนชายขอบอย่างมนุษย์หมาป่า, ยักษ์ และ เซนทอร์
  • พันธกรณีและตัวแทน ตัวอย่างเช่น ปฏิญาณไม่คืนคำ และสเนปกับภาคีนกฟีนิกซ์

ศาสตราจารย์ ชูวิค คุมาร์ กุฮา ผู้ออกแบบวิชานี้กล่าวว่ามันคือ “การทดลอง” เพื่อ “กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์” อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้นักศึกษากฎหมายออกจากพื้นที่สุขสบาย (Comfort Zone) ของตัวเอง และเรียนรู้จากเรื่องราวที่พวกเขาเคยอ่านตั้งแต่เด็ก

วิชานี้เริ่มเปิดสอนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและมีนักศึกษาในชั้นมากกว่า 40 คนแล้ว ซึ่งก็มีนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาขอให้เพิ่มขนาดชั้นเรียนด้วย ทั้งนี้กุฮายังบอกด้วยว่าเหตุที่ใช้นิยาย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ประกอบการสอนเพราะตัวนิยายมีความนิยมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ Game of Thrones หรือ Star Trek

“ในหนังสือคุณสามารถมองเห็นถึงตัวอย่างมากมายถึงการที่สื่อถูกบ่อนทำลายโดยสถาบันการเมือง และพิจารณาควบคู่ไปกับโลกแห่งความเป็นจริง” กุฮากล่าว “จักรวาลของโรว์ลิงพูดเรื่องความล้มเหลวของสถาบันกฎหมายในบางสถานการณ์ไว้เยอะมาก”

กุฮาเสริมว่าเขาต้องการใช้ตัวอย่างสมมติต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาดูสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศอินเดียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

“ในระบบของเราตอนนี้ เราบอกนักศึกษาว่ามันคือ แบล็ค เลทเทอร์ ออฟ ลอว์” กุฮาพูดถึงกฎที่เป็นที่รู้โดยทั่วไปและเป็นกฎที่ปราศจากข้อสงสัยหรือข้อพิพาท “เราตั้งคำถามว่านักศึกษาจะสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ก่อนแล้วกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้หรือไม่”